วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2551

ผมพบภาพนี้โดยบังเอิญ จากหนังสือ Thailand in Pictures (prepared by James Nach. New York: Sterling, 1963) ซึ่งตรงกับปี 2506
คำอธิบายใต้ภาพมีใจความว่า ” ‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ ณ กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ตรงกลาง ‘ถนนสมัยใหม่’ ประเทศไทยยังไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยประชาธิปไตย แต่ก็มีสัญญานหลายๆ อย่างที่ชี้ว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยในอนาคตอันใกล้”
ภาพนี้น่าสนใจต่างจากภาพอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับ “อนุสาวรีย์” ประชาธิปไตย เพราะเรามักเห็นภาพอนุสาวรีย์ดังกล่าวแบบล้อมไปด้วยผู้คนจำนวนมากที่มาชุมนุมกันจนล้นถนน หรือภาพที่เป็นภาพราชดำเนินเมื่อถูกปิดถนนแล้วมีขบวนพีธีต่างๆ โดยเฉพาะพิธีฉลองวันชาติในอดีต (ว่าง่ายๆว่าภาพข้างบนดูเหมือนไม่ค่อยมี “ความสำคัญทางประวัติศาสตร์” มากกว่า “ความเก่า” ของภาพ)
ภาพนี้ก็อาจจะแปลกตาไปอีกสักหน่อย เพราะเป็นภาพของ ห้าเสือ คมช. เอ้ย ... ภาพไอ้มดแดงห้าตัวกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากไตเติลภาพยนตร์เรื่อง หนุมาน พบ 5 ไอ้มดแดง ซึ่งผลิตในปี 2517 โดยไชโยภาพยนตร์ หนึ่งปีหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 (1)
ผมนึกถึงงานเขียนที่ว่าด้วยเรื่อง “สงครามอนุสาวรีย์กับรัฐไทย” ที่ผู้เขียนให้ทัศนะถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยว่า “ในแง่ศิลปะ อนุสาวรีย์แห่งนี้ คือความล้มเหลว (เพราะ) นอกจากความกำกวมของสารที่สื่อแล้ว รายละเอียดทั้งหมดที่บรรยายมา (หมายถึงรายละเอียดของการออกแบบเพื่อสื่อถึงอำนาจของประชาชนและความก้าวหน้าของประเทศชาติ) ไม่สามารถสื่ออะไรได้เลย เพราะผู้ออกแบบได้ตั้งใจมาแต่ต้นแล้วที่จะวางอนุสาวรีย์ไว้กลางถนน ผู้ชมอนุสาวรีย์จึงเป็นคนที่เคลื่อนที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว รายละเอียดที่กล่าวแล้วนี้จะบอกอะไรได้ก็ต่อเมื่อผู้ชมต้องเดินทอดน่องชมอนุสาวรีย์ไปช้าๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงเป็นอนุสาวรีย์ที่ไม่มีพลัง (นอกจากชื่อของมัน) จืดสนิทเท่ากับซีเมนต์กองใหญ่กลางถนนเท่านั้น” (2)
น่าแปลกประหลาดที่ผมไม่ได้เห็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็น “อนุสาวรีย์” มานานแล้ว (อาจเพราะผมไม่มีหัวทางศิลปะ หรือไม่ได้คิดว่าอนุสาวรีย์เป็นสื่อทางอุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่างที่ผมพร้อมจะรับสารทางการเมืองเหล่านั้นด้วยตาเปล่า)
ผมกลับเห็น(อนุสาวรีย์)ประชาธิปไตยเป็น “วงเวียน” ที่มีอนุสาวรีย์อยู่ตรงกลาง ซึ่งเป็นไปได้ว่าผมไม่ได้คิดว่าผมจะเดินทอดน่องที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ผมมองเห็นสิ่งที่คนเรียกว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นวงเวียน อาจเป็นเพราะว่าผมนั้นเป็นเพียง “ผู้ใช้รถ(ใช้ถนน?)”
หมายถึงว่าการดำรงอยู่ของ(อนุสาวรีย์)ประชาธิปไตยนั้นอาจเป็นเรื่องของการทำหน้าที่ของการเป็นวงเวียน และวงเวียนก็มีทั้งประโยชน์ เสน่ห์ และ ข้อจำกัดของมัน
ที่สำมะคัญยิ่ง วงเวียนก็คงต้องอยู่กลางถนน จะไปอยู่ตรงอื่นไม่ได้ (แต่อาจไม่ต้องอยู่ตรงกลางภาพนักก็ได้ เหมือนภาพไอ้มดแดงข้างบน) เนื่องจากวงเวียนมันคู่กับยวดยานพาหนะ ซึ่งหมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่าง(ผู้ใช้)ยานพาหนะกับวงเวียนนั้นอาจไม่ใช่เรื่องของ “ความทรงจำ/การไม่จำ” หรือ “สำนึกประวัติศาสตร์” แต่อาจเป็นเรื่องของ “ประโยชน์ใช้สอยประจำวัน” ของวงเวียนในแต่ละวัน
และหมายถึงว่าในกรณีนี้ผมไม่สนใจกำเนิดและความเป็นมาของวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เท่ากับความเคยชินในการใช้สอยวงเวียนและถนนดังกล่าวมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย (3)
ผมเองเป็นคนหลงรักวงเวียน ยิ่งได้มีโอกาสเดินทางไปหลายๆที่ก็ได้พบกับสังคมที่เขามีวงเวียนอยู่หลายแบบ และถ้าจะพูดถึงเมืองไทยก็คงจะพูดได้ว่า เหลือวงเวียนแบบที่เขาใช้กันในหลายๆประเทศอยู่น้อยมาก คือ วงเวียนที่ไม่มีไฟสัญญานไฟเขียวแดง แต่เป็นวงเวียนเฉยๆ
ผมมองว่าวงเวียนเป็นเรื่องของการสร้างสถาบันบางอย่าง (institutional arrangement) ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอารยะอยู่ไม่น้อย และอาจเป็นเรื่องที่เราหลงลืมว่าเคยมีอยู่กับบ้านเรามาก่อนจะมีการพยายามรื้อวงเวียนบ้าง เอาไฟแดงไปใส่วงเวียนบ้าง ย้ายวงเวียนออกไปบ้าง ทำสะพานข้ามมาแทนบ้าง เพราะเชื่อว่าวงเวียนเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วของยานพาหนะ และผู้คนจำนวนมากที่มีชีวิตด้วยการอาศัยยานพาหนะเหล่านั้น (ตัวอย่างของวงเวียนอนุสาวรีย์ “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” หรือวงเวียนอนุสาวรีย์หลักสี่เป็นตัวอย่างสำคัญ ทั้งในเรื่องการจัดการจราจร การจัดการวงเวียน และการโยกย้ายตัวอนุสาวรีย์ไปๆมาๆ (4))
ทั้งนี้แม้ในกรณีหลายกรณีวงเวียนอาจจะไม่สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่มากมายมหาศาลได้ ซึ่งแตกต่างไปจากยุคแรกของการสร้างวงเวียน แต่หัวใจสำคัญประการหนึ่งของการใช้วงเวียนก็คือ การบริหารจัดการความขัดแย้งและการเผชิญหน้าบางประการที่เกิดขึ้นในการจราจร หรือพูดง่ายๆ มันเป็นกฏเกณฑ์บางอย่างที่เรายอมรับร่วมกัน เมื่อเกิด “ทางแยก” ขึ้นมา ไม่ว่าจะสามแยก สี่แยก ห้าแยก
การมีวงเวียนก็คือการทำให้ทุกฝ่ายนั้นสามารถเคลื่อนที่ไปได้ ด้วยการยอมรับกฏเกณฑ์บางประการ ซึ่งโดยหลักการแล้ว ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าสู่วงเวียนอย่างเท่าๆกัน และรถที่เข้าสู่วงเวียนนั้นย่อมต้องไปก่อน และผลัดกันไปทีละคันจากแยกต่างๆ และสิ่งแรกที่เราต้องคำนึงถึงก่อนในการเข้าวงเวียนก็คือ “การดำรงอยู่และสิทธิรถคันอื่นๆ” ไม่ใช่ “จะมีหัวปิงปองไหม” หรือ “เร่งก่อนไฟจะแดง” (5)
แม้จะมีการพูดถึงว่าการที่มีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาวางอยู่ตรงกลางถนนราชดำเนินเป็นเรื่องของสงครามขั้นแตกหัก (หรือบางรายตีความว่าเป็นเรื่องของความต่อเนื่อง) ระหว่าง ถนน “ราชดำเนิน” กับ อนุสาวรีย์ “ประชาธิปไตย” แต่สิ่งที่ผู้ใช้รถใช้ถนนและใช้วงเวียน สนใจน่าจะอยู่ที่ว่า วงเวียนกับถนนจะจัดความสัมพันธ์กันอย่างไรเสียมากกว่า (6)
ในกรณีของวงเวียนประชาธิปไตยนั้น เราคงพูดถึงการจัดความสัมพันธ์ระหว่างถนนราชดำเนิน และถนนดินสอ (ที่ต่อเนื่องไปเป็นถนนประชาธิปไตย) ที่อย่างน้อยวงเวียนประชาธิปไตยก็ทำหน้าที่ให้คนจากถนนสายเล็กๆนั้นสามารถเข้าสู่(และออกจาก) ถนนราชดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทางของพวกเขาได้
ถ้าเราคิดว่าว่าประชาธิปไตยเป็นเสมือนวงเวียน และเราเข้าใจหลักการพื้นฐานของวงเวียนดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เราอาจจะไม่รู้สึกแปลกแยกกับประชาธิปไตยมากนัก เพราะเรา “ใช้” มันอยู่ทุกวัน และ อาจไม่ต้องรู้ “ที่มา” ของมันก็ได้
เหมือนที่รู้สึกว่าวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้นเป็นส่วนหนึ่งของถนนราชดำเนิน และขณะเดียวกัน ถนนราชดำเนินถ้าขาดวงเวียน(อนุสาวรีย์)ประชาธิปไตยซะ ก็อาจจะติดขัดมากขึ้น เพราะสุดท้ายถ้ารถติดจริง ถนนราชดำเนินและวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็คงรองรับรถและคนที่ต้องการใช้ถนนราชดำเนินไม่พออยู่ดี (7)
ผมเป็นคนรักและหลงเสน่ห์ของวงเวียน แม้ว่าหลายคนจะบอกผมว่าใน “โลกแห่งความเป็นจริง” วงเวียนจะไม่สามารถรองรับความต้องการของผู้ใช้รถใช้ถนนได้อย่างเพียงพอ และควรจะยกเลิกวงเวียนไปใช้สะพานลอยข้ามแยก หรือทำให้เป็นแยกไฟเขียวไฟแดงเฉยๆ ...
... ในสถานการณ์ที่ถนนราชดำเนินรถติดมากขึ้นทุกวัน ...
เชิงอรรถขยายความ:
(1) เกร็ดจากภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวก็คือ ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เข้าฉายในประเทศญี่ปุ่น เพราะไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ได้รับลิขสิทธิ์ในการถ่ายทำจากบริษัทโตอิ ซึ่งถือลิขสิทธิ์ไอ้มดแดง ซึ่งแตกต่างไปจากกรณีภาพยนตร์ หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ และ ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ กรุณาดูรายละเอียดใน Hanuman and the

ไม่มีความคิดเห็น: